ชุมนุม 20 มีนา: ตร. บุกค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยึดหนังสือคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา

ชุมนุม 20 มีนา: ตร. บุกค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยึดหนังสือคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา ก่อนนำแจกจ่ายผู้ชุมนุม REDEM

กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 20 กองร้อย เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเย็นวันนี้ พร้อมสั่งห้ามแจก “หนังสือที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย”

5 ชม. ก่อนถึงเวลานัดหมายชุมนุมของกลุ่มที่ชื่อว่า “รีเด็ม” (REDEM - Restart Democracy) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 20 มี.ค. เข้าตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อเวลา 12.30 น. และยึดหนังสือ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย” หลังผู้จัดการชุมนุมระบุว่ากลุ่ม “เพื่อนอานนท์” จะนำหนังสือดังกล่าวจำนวน 10,000 เล่ม ไปแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม ในเวลา 19.19 น. ที่ท้องสนามหลวง

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยหมายค้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในหมายค้นระบุเหตุผลในการเข้าตรวจค้นและยึดหนังสือไว้ 2 ข้อคือ 1. เป็นพยานหลักฐานประกอบกอบสอบสวน ไต่มูลฟ้องหรือพิจารณา และ 2. มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

สำหรับหนังสือ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย” เป็นการถอดข้อความคำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันฯ ครั้งแรกของนายอานนท์ นำภา แกนนำ “ราษฎร” ในกิจกรรมการชุมนุมที่ใช้ชื่อวา “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” จัดโดย “กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย” (MDG) และ “กลุ่มมอกะเสด” (KU Daily) เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทนายอานนท์ตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากการชุมนุมทางการเมือง ปัจจุบันเขาถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างการพิจารณาคดี พร้อมกับแกนนำราษฎรอีกหลายราย

เตรียม คฝ. 22 กองร้อยรับมือ ในระหว่างแถลงมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเตรียมการรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. ออกปากเตือนผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่ประกาศว่าจะมีการแจกจ่ายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์บางอย่างที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีความผิดตามมาตรา 112 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ผู้จำหน่าย ผู้จ่ายแจก หรือผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยทั้งนั้น

พล.ต.ต. ปิยะยังเปิดเผยด้วยว่า บช.น. ได้จัดกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไว้รับสถานการณ์ 22 กองร้อย และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สัญจรไปมา

แม้สนามหลวงเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ บช.น. ก็ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเสริมการปฏิบัติของ กทม. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและระงับเหตุต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ พล.ต.ต. ปิยะยังยืนยันความจำเป็นในการวางรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเป็รแนวป้องกันรักษาสถานที่สำคัญบริเวณรอบ อาทิ ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฯลฯ

สำหรับกลุ่มมวลชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่ท้องสนามหลวงมีอย่างน้อย 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” หรือกลุ่มรีเด็ม เวลา 18.00-21.00 น. กลุ่ม “ศิลปะปลดแอก” (FreeArt) เวลา 18.30 น. กลุ่ม “เพื่อนอานนท์” เวลา 19.19 น. “คณะราษเก๊ต” ซึ่งประกาศเชิญชวนประชาชนไปเล่นเก๊ตบอร์ดที่สนามหลวง 18.00-21.00 น. การนัดหมายชุมนุมในนามกลุ่มรีเด็มเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการ “ส่งสาสน์เรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์” ทั้งนี้ผู้จัดการชุมนุมยืนยันว่าจะไม่มีการเดินขบวน ไม่มีแกนนำ และยุติกิจกรรมในเวลา 21.00 น.

นับจากมีการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 โฆษก บช.น. ระบุว่า ตำรวจได้จับกุมและคุมตัวผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 179 คดี สรุปสำนวนส่งฟ้องให้พนักงานอัยการแล้ว 129 คดี ส่วนที่เหลือกำลังสืบสวนสอบสวน และจะรายงานผลเป็นระยะ ๆ

3465